การจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี
มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้วิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร การศึกษาและพัฒนาคุณสมบัติของวัสดุชีวภาพ วัสดุสังเคราะห์และวัสดุผสม รวมทั้งการบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรม โดยสามารถบูรณาการและเชื่อมโยงความรู้ในสาขาต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของภาครัฐและอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ละหลักสูตรมีจุดเด่นดังนี้
1. วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร)
อักษรย่อปริญญา (ภาษาไทย): วท.บ. (วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร)
อักษรย่อปริญญา (English): B.Sc. (Food Science and Technology)
เน้นจัดการเรียนการสอนพื้นฐานวิทยาศาสตร์อาหาร ทั้งด้านเคมี จุลชีววิทยาและการวิเคราะห์คุณภาพ และทักษะทางเทคโนโลยีอาหาร ซึ่งรวมถึงกระบวนการผลิต การควบคุมและประกันคุณภาพ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหาร การถนอมอาหารการวิจัยและพัฒนาอาหาร เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจทำงานในฝ่ายผลิต/ ฝ่ายประกันคุณภาพ/ ฝ่ายออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและผลิตผลทางการเกษตร
2. วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีวัสดุและบรรจุภัณฑ์
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคโนโลยีวัสดุและบรรจุภัณฑ์)
อักษรย่อปริญญา (ภาษาไทย): วท.บ. (เทคโนโลยีวัสดุและบรรจุภัณฑ์)
อักษรย่อปริญญา (English): B.Sc. (Material and Packaging Technology)
เน้นจัดการเรียนการสอนด้านวัสดุและบรรจุภัณฑ์ และทักษะด้านการผลิต พัฒนา ตรวจสอบคุณภาพและออกแบบบรรจุภัณฑ์ทั้งด้านโครงสร้างและกราฟิก เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจทำงานเป็นนักพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ ในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งที่เกี่ยวกับอาหารและไม่เกี่ยวกับอาหาร หรือเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตและตรวจสอบคุณภาพวัสดุและบรรจุภัณฑ์
3. วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร
ชื่อปริญญา : วิทยาศาสตรบัณฑิต (การจัดการเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร)
อักษรย่อปริญญา (ภาษาไทย): วท.บ. (การจัดการเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร)
อักษรย่อปริญญา (English): B.Sc. (Agro-Industry Technology Management)
เน้นทักษะของการบริหารจัดการอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อให้ระบบการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้ต้นทุนอย่างประหยัด มุ่งเสริมสร้างประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริงร่วมกับสถานประกอบการ โดยนักศึกษาทุกคนจะต้องปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในโรงงานอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์ เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจทำงานด้านการจัดการในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วางแผนจัดทำระบบประกันคุณภาพ ควบคุมคุณภาพ วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของโรงงาน
หลักสูตรระดับปริญญาตรีทั้งสามสาขา ยังส่งเสริมโอกาสในการนำความรู้ไปปฏิบัติจริงในสถานประกอบการประเภทต่าง ๆ แก่นักศึกษา โดยนักศึกษาสามารถเลือกแผนการศึกษาได้ดังนี้
แผน ก (สหกิจศึกษา) เน้นการสร้างประสบการณ์ตรงทางด้านวิชาการ วิชาชีพ และการพัฒนาตนเอง ผ่านการปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาจริงในสถานประกอบการ โดยนักศึกษาต้องฝึกงานในโรงงานอุตสาหกรรมระหว่างภาคฤดูร้อนของชั้นปีที่ 3 อย่างน้อย 300 ชั่วโมง และปฏิบัติงานสหกิจศึกษาอีกไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์ ในชั้นปีที่ 4
แผน ข (โครงงานนักศึกษา) เน้นการเรียนและการทำงานค้นคว้า วิจัย และพัฒนาเชิงลึกในห้องปฏิบัติการ ควบคู่กับการฝึกงานในโรงงานเฉพาะภาคฤดูร้อนของชั้นปีที่ 3 อย่างน้อย 300 ชั่วโมง
การรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี (ประมาณ 155 คนต่อปี)
1. การสอบคัดเลือกนักเรียนใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยวิธีรับตรงของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
2. การสอบคัดเลือกนักเรียนและบุคคลทั่วไปเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
3. การคัดเลือกนักเรียนตามโครงการคัดเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียนดี โดยงานรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (จำนวน 23 คนต่อปี) และการรับนักเรียนเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านการรับตรงของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (จำนวน 7 คนต่อปี) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (จำนวน 7 คนต่อปี)
4. การรับตรงของคณะ 3 โครงการ คือ โครงการบัณฑิตอุตสาหกรรมเกษตรศรีตรัง โครงการบัวหลวง โครงการทายาทอุตสาหกรรมเกษตร (จำนวน 35 คนต่อปี) รับสมัครด้วยตนเอง/ไปรษณีย์/เว็บไซต์ที่ http://agro.psu.ac.th ช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายนของทุกปี คุณสมบัติของผู้สมัคร ต้องเป็นนักเรียนมัธยมปลายสายวิทย์-คณิตฯ ชั้น ม.6 และมีเกรดเฉลี่ยรายวิชาและเกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) ดังนี้
โครงการบัณฑิตอุตสาหกรรมเกษตรศรีตรัง* |
โครงการบัวหลวง** |
โครงการทายาทอุตสาหกรรมเกษตร*** |
|
วิชาเคมี |
3.00 |
2.50 |
2.50 |
วิชาคณิตศาสตร์ |
3.00 |
2.50 |
2.50 |
วิชาชีววิทยา |
3.00 |
2.50 |
2.50 |
วิชาฟิสิกส์ |
3.00 |
2.50 |
2.50 |
วิชาภาษาอังกฤษ |
3.00 |
2.50 |
2.50 |
GPA |
3.00 |
2.75 |
2.50 |
** โครงการบัวหลวงมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือเป็นนักเรียนมัธยมปลายสายวิทย์-คณิตฯ ชั้น ม.5-6 ที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนตามที่คณะฯ กำหนด ได้แก่ โรงเรียนธิดานุเคราะห์ โรงเรียนมอ.วิทยานุสรณ์ โรงเรียนแสงทอง โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนสุราษฎร์ธานี และโรงเรียนสุราษฎร์ธานี 2 โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย โรงเรียนเบญจมราชูทิศนครศรีธรรมราช และ 100 อันดับโรงเรียนที่ดีที่สุดของประเทศไทยปีล่าสุด โดยพิจารณาจากรับตรง admission
*** โครงการทายาทอุตสาหกรรมเกษตร ผู้สมัครจะต้องเป็นทายาทของผู้ประกอบการหรือพนักงานในธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร
ค่าใช้จ่าย
เริ่มใช้อัตราเหมาจ่ายตั้งแต่ปี 2550 โดยเหมาจ่ายภาคการศึกษาปกติละ 15,000 บาท
ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี
- ทุนขาดแคลนทุนทรัพย์คณะอุตสาหกรรมเกษตร (จำนวน 5 ทุนต่อปี ปีละ 15,000 บาท)
- ทุนบัณฑิตอุตสาหกรรมเกษตรศรีตรัง (จำนวน 7 ทุนต่อปี เป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาคการศึกษาแรก และภาคการศึกษาปกติถัดไป หากนักศึกษามีผลการเรียน คะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 3.00 ขึ้นไป)
- ทุนกองทุนพัฒนาคณะอุตสาหกรรมเกษตร
- ทุน ม.ล.ประกฤติ-ทัศนีย์ สุขสวัสดิ์ ศิษย์เก่าอุตสาหกรรมเกษตร รุ่นที่ 2 ได้แก่ ทุนทำงานเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ ทุนสนับสนุนเพื่องานทดลองในการทำปัญหาพิเศษ สนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ รางวัลผลการเรียนยอดเยี่ยม
- ทุนประเภททั่วไป (ทุนจากหน่วยงานต่างๆ) เช่น ทุนทำงานแลกเปลี่ยน ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น
กิจกรรมการพัฒนานักศึกษา
ตลอดการศึกษานั้น คณะฯ จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรแก่นักศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ทั้งด้านคุณธรรมจริยธรรม จิตสำนึกสาธารณะ กระบวนการทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่น ภาวะการเป็นผู้นำ การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทักษะด้านภาษาอังกฤษเพื่อการเตรียมตัวสู่การเปิดประชาคมอาเซียน และทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เช่น โครงการปฐมนิเทศและปัจฉิมนิเทศตามแนวทางสันติศึกษา โครงการน้องใหม่บำเพ็ญประโยชน์ โครงการค่ายพัฒนาศักยภาพทางผู้นำและการทำงานเป็นทีม โครงการพัฒนาบุคลิกภาพ โครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางสายอาชีพ โครงการค่ายอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อชนบท โครงการส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพอิสระ โครงการอบรมภาษาอังกฤษ และโครงการศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศ มาเลเซีย หรือ สิงคโปร์ เป็นต้น
การประกอบอาชีพของผู้สำเร็จการศึกษา
จากการสำรวจภาวะการมีงานทำของบัณฑิตคณะอุตสาหกรรมเกษตรปีล่าสุด พบว่ามากกว่าร้อยละ 80 มีงานทำและที่เหลือศึกษาต่อ โดยบัณฑิตส่วนใหญ่มีระดับเงินเดือนเฉลี่ยประมาณ 20,000-25,000 บาทต่อเดือน ซึ่งบัณฑิตสามารถเลือกประกอบอาชีพได้ดังนี้
- ภาคเอกชนและโรงงานอุตสาหกรรม: ทำงานในฝ่ายผลิต/ ฝ่ายประกันคุณภาพ/ ฝ่ายออกแบบและพัฒนากระบวนการผลิต/ ฝ่ายวางแผนและควบคุมการผลิต/ ฝ่ายคลังสินค้าและขนส่ง หรือเป็นนักวิชาการ/นักวิจัยและพัฒนา ด้านการจัดการในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา หรือตรวจรับรอง ระบบการบริหารการผลิต/ ระบบการบริหารคุณภาพ หรือฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โรงงานด้านวัสดุและบรรจุภัณฑ์ โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
- ในหน่วยงานราชการ / รัฐวิสาหกิจ : ครูและอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ หรือที่ปรึกษา ด้านการออกแบบ วางแผน ควบคุม และจัดการการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
- ประกอบอาชีพอิสระ / ผู้ประกอบการรายย่อย: ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดเล็ก-กลางหรืออุตสาหกรรมครัวเรือนซึ่งมีโอกาสสร้างรายได้สูงมากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน หรือบริษัทจำหน่ายวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือในการผลิตหรือวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง นักวิเคราะห์โครงการในธนาคารต่างๆ เป็นต้น
- การศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก: นอกจากหลักสูตรระดับปริญญาตรีแล้ว คณะอุตสาหกรรมเกษตรยังมีหลักสูตรระดับปริญญาโทและเอกในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาวิชาอาหารเพื่อสุขภาพและโภชนาการ และมีหลักสูตรระดับปริญญาโทในสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร และสาขาวิชาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ (โดยมีทุนการศึกษาให้หากมีผลการเรียนดี)